โครงการประกวดแข่งขันทักษะภาษา วัฒนธรรมจีน และวิชาชีพ ประเทศไทย Jinbu Cup ครั้งที่ 6 ประจำปี 2567″ รอบชิงชนะเลิศ ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุม A-B โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพมหานคร โดย โรงเรียนภาษาและวัฒนธรรมก้าวหน้า อาจารย์ไห่ หยาง, สถาบันเส้นทางสายไหม จิ้นปู้ ประเทศไทย, และ สหพันธ์การศึกษาเส้นทางสายไหมจีน-ไทย ร่วมด้วย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), และ สถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายทางการศึกษาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศร่วม 31 หย่วยงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตจีน และ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ประจำกรุงเทพฯ รวมทั้งมีบริษัท ออล ซีซั่นส์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด All Seasons Property Co., Ltd. เป็นสปอนเซอร์หลักในการจัดกิจกรรมครั้งนี้
สำหรับโครงการ Jinbu Cup ครั้งที่ 6 นี้ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่รอบคัดเลือก ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 ตุลาคม 2567 – 20 พฤศจิกายน 2567 โดยมีทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ได้รับการประกาศผลเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
การแข่งขัน Jinbu Cup ครั้งที่ 6 นี้ได้รับการสนับสนุนหลักจากหน่วยงานที่สำคัญ ได้แก่ All Seasons Property Co., Ltd., Sichuan Polytechnic University และ Zhejiang Ocean University
โดยหน่วยงานความร่วมมือจาก 31 หน่วยงานทั้งในประเทศไทยและประเทศจีน ซึ่งประกอบไปด้วยภาครัฐและเอกชนมีดังนี้
- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
- สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
- โรงเรียนภาษาและวัฒนธรรม ก้าวหน้า อาจารย์ไห่ หยาง
- สถาบันเส้นทางสายไหม จิ้นปู้ ประเทศไทย
- สหพันธ์การศึกษาเส้นทางสายไหมจีน-ไทย
- สถาบันขงจื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- All Seasons Property Co., Ltd.
- Sichuan Polytechnic Universtiy
- Zhejiang Ocean University
- คณะการจัดการการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
- คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
- คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
- คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ บพิตรพิมุข จักรวรรดิ
- คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีศรีวิชัย
- วิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยรังสิต
- วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
- สถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สุพรรณบุรี
- สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
- Beijing Language and Culture University Press
- China University of Mining and Technology
- Hainan Tropical Ocean University
- Jiangsu University
- Qujing Normal University
- Shanghai Ocean University
- Tianjin University
- Tianjin University of Finance and Economic
- Zhejiang Chinese Medical University
- Zhejiang University of Finance and Economics
- Zhejiang Yuexiu University
อาจารย์ไห่ หยาง ผู้อำนวยการสถาบันเส้นทางสายไหม จิ้นปู้ ประเทศไทย ได้กล่าวรายงานต่อประธานในพิธีเปิดงาน “Jinbu Cup” ครั้งที่ 6 โดยเน้นถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในไทยและจีนกว่า 31 แห่ง ที่มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีนให้กับเยาวชนไทย ซึ่งตลอด 6 ปีที่ผ่านมา มีเยาวชนกว่า 10,000 คนที่ได้รับประโยชน์จากเวทีนี้ พร้อมย้ำวัตถุประสงค์หลักของโครงการ คือ การยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาจีน การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงศักยภาพในการประยุกต์ใช้ความรู้ในชีวิตจริง
ในช่วงพิธีเปิดงาน อาจารย์สุมิตรา ทองแสง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมมาตรฐานการศึกษา ผู้แทนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยเน้นถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะภาษาและวัฒนธรรมจีนในยุคโลกาภิวัตน์ พร้อมกล่าวว่า “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรมนี้ ซึ่งเป็นเวทีที่ช่วยพัฒนาเยาวชนไทยให้มีศักยภาพทางด้านภาษาจีนและวิชาชีพ เพื่อเตรียมพร้อมสู่โลกยุคใหม่ ดิฉันขอชื่นชมและยกย่องสถาบันเส้นทางสายไหม จิ้นปู้ ประเทศไทย รวมถึงภาคีเครือข่ายทั้งไทยและจีนที่ร่วมสร้างโอกาสอันทรงคุณค่านี้ให้แก่เยาวชนไทยทุกคน”
โดยการแข่งขันในปีนี้แบ่งออกเป็น 6 ประเภทที่สะท้อนถึงการพัฒนาทักษะที่สำคัญ ได้แก่
- การแข่งขันร้องและเต้นประกอบเพลงจีนกลาง ของระดับชั้นประถมศึกษา
- การแข่งขันการแสดงศิลปะวัฒนธรรมจีน ของระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
- การพูดนำเสนอในหัวข้อ “ภาษาจีน เปิดประตู… สู่โลกยุคใหม่” ของระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
- การออกแบบดีไซน์ของที่ระลึกสินค้าไทย เพื่อยกระดับสู่สากล ของระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
- การออกแบบคู่มือท่องเที่ยวฉบับพกพา สำหรับนักท่องเที่ยว FIT (Free Individual Traveler) ของระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
- การแข่งขันในบทบาท Influencer นำเสนอสินค้าจีน ของระดับอุดมศึกษา
การแข่งขันทั้งหมดนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 2,500 คน ทั้งในรอบคัดเลือกและรอบชิงชนะเลิศจากทั่วประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จและการตอบรับอย่างล้นหลามจากเยาวชนไทย
ในช่วงพิธีปิด ดร. รังสรรค์ เทพมนตรี ในนามผู้แทนเลขาธิการ สำนักงาน คณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์การอาชีวศึกษาต่างประเทศและวิเทศสัมพันธ์ ได้ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวปิดงานว่า “กระผมขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเวทีพัฒนาทักษะภาษาและวัฒนธรรมจีน แต่ยังส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิชาชีพที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ ขอขอบคุณทุกหน่วยงานทั้งไทยและจีนที่ร่วมสร้างโอกาสนี้ให้กับเยาวชนไทย”
สำหรับการแข่งขัน Jinbu Cup 5 ครั้งที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตและความสำคัญในฐานะเวทีส่งเสริมทักษะภาษาและวัฒนธรรมจีนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยในแต่ละปีมุ่งเน้นเป้าหมายที่หลากหลายและตอบโจทย์ความต้องการในยุคสมัย ดังนี้
ครั้งที่ 1 (พฤษภาคม 2563)
การแข่งขันครั้งแรกถูกจัดขึ้นในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยมาในรูปแบบ ออนไลน์ผ่าน Zoom ภายใต้หัวข้อการประกวดร้องเพลงจีน “กำลังใจจากเรา สู่นักรบชุดขาว” กิจกรรมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้กำลังใจแก่ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ที่เสียสละทุ่มเทแรงกายแรงใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19
ครั้งที่ 2 (กันยายน 2563)
การแข่งขันครั้งนี้จัดขึ้นในโอกาส วันคล้ายวันเกิดของขงจื่อ ครบ 2,572 ปี โดยเป็นการประกวดเขียนบทความเพื่อรำลึกถึงปรัชญาและคุณค่าของขงจื่อ ที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญต่อการศึกษาในยุคปัจจุบัน
ครั้งที่ 3 (กันยายน 2564)
การแข่งขันครั้งนี้ยังคงอยู่ในรูปแบบ ออนไลน์ผ่าน Zoom ท่ามกลางข้อจำกัดจากสถานการณ์โควิด-19 โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ประถมศึกษา, มัธยมศึกษาตอนต้น, มัธยมศึกษาตอนปลาย, และอุดมศึกษา กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากเยาวชนทั่วประเทศ
ครั้งที่ 4 (ตุลาคม 2565)
การแข่งขันครั้งที่ 4 เป็นการกลับมาจัดงาน ในรูปแบบออนไซต์ ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ โดยเพิ่มระดับการแข่งขันให้ครอบคลุม 7 ระดับ ตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมด้านการศึกษาและวัฒนธรรม
ครั้งที่ 5 (พฤศจิกายน 2566)
ครั้งนี้มุ่งเน้นการส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียนภาษาจีนในทุกระดับการศึกษา รวมถึงการสร้างเวทีแลกเปลี่ยนทักษะและประสบการณ์ที่ก้าวไกลกว่าเดิม การแข่งขันในปีนี้ประกอบไปด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การแข่งขันการแสดงศิลปวัฒนธรรมจีน, การร้องและเต้นเพลงจีน, และการพากย์ภาพยนตร์หรือการ์ตูน (ภาษาจีน)
การแข่งขัน Jinbu Cup ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนเยาวชนไทยให้พัฒนาศักยภาพด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน รวมถึงทักษะวิชาชีพในระดับนานาชาติ กิจกรรมนี้ไม่ได้เป็นเพียงการแข่งขัน แต่ยังเป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถที่พร้อมจะนำพาเยาวชนไทยก้าวไปสู่อนาคต